เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเซลล์
ห้องปฏิบัติการวินเซลล์ รีเชิร์ช เป็นห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเซลล์ (Cell culture laboratory) ที่มีมาตรฐานตามข้อกำหนด ใส่ใจความปลอดภัย เพื่อการนำไปใช้ด้านงานวิจัยและการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ปัจจุบัน วินเซลล์ รีเซิร์ช ให้บริการเพาะเลี้ยงเซลล์ 3 กลุ่มหลัก คือ
- เซลล์เดนไดรต์ (Dendritic cells หรือ DCs) สำหรับการพัฒนาเป็นวัคซีนมะเร็ง (Cancer vaccine)
- เซลล์นักฆ่า (Killer cells) ในระบบภูมิคุ้มกัน
- เซลล์ต้นกำเนิด (Stem cells)
เซลล์เดนไดรต์เพื่อการพัฒนาวัคซีนมะเร็ง
(DCs FOR CANCER VACCINE DEVELOPMENT)
WT1-pulsed DC cancer vaccine
ห้องปฏิบัติการวินเซลล์ รีเซิร์ช ให้บริการเพาะเลี้ยงและกระตุ้นเซลล์เดนไดรต์เพื่อการพัฒนาวัคซีนมะเร็ง โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์ของวินเซลล์ รีเซิร์ช เท่านั้นในประเทศไทย ที่สามารถให้บริการนี้ได้
เซลล์เดนไดรต์ (Dendritic cells หรือ DCs) คืออะไร
เซลล์เดนไดรต์ (Dendritic cells หรือ DCs) เป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate immune system) ที่ทำหน้าที่ตรวจจับและนำเสนอสารแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen presentation) ให้กับเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ โดยเฉพาะ T cells (Killer T cells หรือ Cytotoxic T cells) ซึ่งมีหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมและเซลล์ติดเชื้อในร่างกาย
บทบาทของเซลล์เดนไดรต์จึงเปรียบเสมือน “ตัวกลาง” หรือ “ผู้ประสานงาน” ระหว่าง ระบบภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด และระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Specific immune system) ที่ช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือเซลล์ผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยคุณสมบัตินี้ เซลล์เดนไดรต์จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวัคซีนมะเร็ง (Cancer vaccine) โดยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะเจาะจงมากขึ้น

วัคซีนมะเร็งแบบ WT1-pulsed DC cancer vaccine มุ่งเน้นการกระตุ้น T Cell ด้วยสารก่อภูมิต้านทานที่บ่งชี้ถึงเซลล์มะเร็ง (Cancer antigen) โดยเฉพาะโปรตีนเนื้องอก Wilms 1 (Wilms tumor 1 หรือ WT1) ที่พบในมะเร็งหลายชนิด เมื่อเซลล์เดนไดรต์นำเสนอ WT1 ให้แก่ T cell ในต่อมน้ำเหลือง (Lymph node) T cell ก็จะเรียนรู้และจดจำเซลล์มะเร็ง และพร้อมกำจัดทันทีเมื่อมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นในร่างกาย ปัจจุบันยังไม่ได้ใช้ในเชิงการป้องกัน แต่จะใช้วัคซีนมะเร็งนี้ร่วมกับการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีมาตรฐาน เพื่อช่วยเสริมการบำบัดฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และเสริมประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
เซลล์นักฆ่าในระบบภูมิคุ้มกัน
(KILLER CELLS IN THE IMMUNE SYSTEM)
วินเซลล์ รีเซิร์ช ให้บริการเพาะเลี้ยงและกระตุ้นเซลล์นักฆ่าแบบผสมผสาน (Integrative killer cells) ทั้งกลุ่มเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีเซลล์เพชฌฆาต (NK cells) เป็นหลัก และกลุ่มเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มี T cells (Killer T cells) เป็นหลัก
ทำความรู้จักกับเซลล์นักฆ่า (Killer cells)
เซลล์นักฆ่า (Killer cells) คือ เซลล์ภูมิคุ้มกัน (Immune cells) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ประเภทหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune system) และมีหน้าที่ในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย เช่น เซลล์มะเร็ง เซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส เป็นต้น
แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ
- เซลล์เพชฌฆาต (Natural killer (NK) cells) หรือ NK cell คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภทลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ที่เป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate immune system) พบได้ร้อยละ 5 ถึง 20 ของลิมโฟไซต์ทั้งหมดในระบบไหลเวียน สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้หรือจดจำก่อนล่วงหน้า
- T cells (Killer T cells หรือ Cytotoxic T cells) คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Adaptive immune system) พบได้ร้อยละ 20 ถึง 30 ของ T cells ทั้งหมดในระบบไหลเวียน สามารถกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้เมื่อมีการเรียนรู้จดจำสิ่งแปลกปลอมก่อนล่วงหน้า
- Natural killer T (NKT) cells เป็นกลุ่มย่อยของ T cells ที่มีลักษณะผสมผสานกันของทั้ง NK cell และ T cell สามารถสร้างและปล่อยสารส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ที่เรียกว่า “ไซโตไคน์ (Cytokines)” และกำจัดเซลล์แปลกปลอมได้ทันทีเหมือนเซลล์เพชฌฆาต (NK cell) พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวเคลียสเดียว
- Gamma delta T cells (γδ T cells) เป็นอีกกลุ่มย่อยของ T cells ที่มีกลุ่มโปรตีนบนผิวเซลล์ (Receptors) ที่ต่างไปจาก T cells ซึ่ง γδ T cells สามารถจดจำสารก่อภูมิต้านทาน (Antigens) ได้หลากหลายชนิด ทำหน้าที่ในการกำจัดเซลล์ติดเชื้อและเซลล์มะเร็งในช่วงต้น พบได้ราวร้อยละ 1 ถึง 5 ของ T cell ทั้งหมดในระบบไหลเวียน
เซลล์นักฆ่า(Killer cells) สำคัญอย่างไร
เซลล์นักฆ่า(Killer cells) มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เซลล์นักฆ่าที่สมบูรณ์แข็งแรงและมีจำนวนที่เหมาะสม สามารถชี้วัดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคร้ายโดยเฉพาะโรคมะเร็ง
