
เทโลเมียร์คือส่วนปลายสุดของโครโมโซม มีหน้าที่ช่วยปกป้องรหัสพันธุกรรม เทโลเมียร์จะสั้นลงตามจำนวนครั้งของการแบ่งเซลล์ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ เมื่อเทโลเมียร์สั้นจนถึงจุดวิกฤต เซลล์จะเข้าสู่สภาวะหยุดการแบ่งตัวหรือการเสื่อมสภาพของเซลล์ (cellular senescence) นำไปสู่การตายของเซลล์ (apoptosis) ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการฟื้นฟู และซ่อมแซม เนื้อเยื่อของร่างกาย
งานวิจัยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงถึงความเชื่อมโยงของความยาวเทโลเมียร์ที่สั้นลงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมองว่าเทโลเมียร์อาจเป็นทั้งดัชนีบ่งชี้อายุทางชีวภาพ (Biological aging biomarker) และปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ความยาวเทโลเมียร์ในเม็ดเลือดขาวกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด [Fitzpatrick et al., 2007]
จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุกับความยาวเทโลเมียร์ในเม็ดเลือดขาว(leukocyte telomere length, LTL) พบว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 73 ปี ที่มีความยาวเทโลเมียร์ที่สั้นลงทุกๆ 1000 คู่เบส จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นถึง 3 เท่า โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือด เฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง และยังพบอีกว่าความเสียหายของเทโลเมียร์เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระและการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำลายหลอดเลือด เทโลเมียร์ที่ยาวสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง กล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
- พันธุกรรมเชื่อมโยงความยาวเทโลเมียร์และความเสี่ยงโรคหัวใจ [Deng et al., 2022]
การศึกษาด้วยวิธีการสุ่มแบบเมนเดเลียน (Mendelian randomization) ให้หลักฐานทางพันธุกรรมที่ชัดเจนว่า มีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างความยาวเทโลเมียร์ในเม็ดเลือดขาวที่สั้นลงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยใช้กลุ่มประชากรขนาดใหญ่ พบว่าเทโลเมียร์ที่ยาวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (coronary atherosclerosis) กล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) โรคหลอดเลือดหัวใจ (ischemic heart disease) และโรคหลอดเลือดสมองที่ลดลง
- อัตราการสั้นลงของเทโลเมียร์มีความสัมพันธ์กับความเสียหายของหัวใจ[Masi et al., 2014]
อัตราการสั้นลงของเทโลเมียร์มีความสัมพันธ์กับความเสียหายของหัวใจ จากการตรวจติดตามยาวนานกว่า 10 ปีของ เทโลเมียร์ในเม็ดเลือดขาวกับสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความเสียหายของหลอดเลือด ความแข็งตัวของหลอดเลือด และความผิดปกติของเยื่อบุหลอดเลือด ชี้ให้เห็นว่าอัตราการสั้นลงของเทโลเมียร์ในเม็ดเลือดขาวอาจเป็นอีกตัวบ่งชี้ความเสื่อมและเสียหายของระบบหัวใจและหลอดเลือด

- ความยาวเทโลเมียร์กับอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด[Xiong et al., 2023]
จากการศึกษาติดตามผู้ป่วยที่มีภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (metabolic syndrome) ยาวนาน 17 ปี พบว่าความยาวเทโลเมียร์ที่สั้นลงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและการเสียชีวิตจากทุกสาเหต
ความผันแปรของความยาวเทโลเมียร์มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การสั้นลงของเทโลเมียร์ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องหมายชีวภาพของความชรา (hallmarks of aging) แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ดังนั้นการวัดความยาวเทโลเมียร์อาจกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการป้องกัน ประเมินความเสี่ยง และวางแผนการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
อ่านเพิ่มเติม
- Fitzpatrick, A.L., Kronmal, R.A., Gardner, J.P., Psaty, B.M., Jenny, N.S., Tracy, R.P., Walston, J., Kimura, M. and Aviv, A., 2007. Leukocyte telomere length and cardiovascular disease in the cardiovascular health study. American Journal of Epidemiology, 165, 14–21.
- Deng, Y., Li, Q., Zhou, F., Li, G., Liu, J., Lv, J., Li, L. and Chang, D., 2022. Telomere length and the risk of cardiovascular diseases: A Mendelian randomization study. Frontiers in Cardiovascular Medicine, 9, 1012615.
- Masi, S., D’Aiuto, F., Martin-Ruiz, C., Kahn, T., Wong, A., Ghosh, A.K., Whincup, P., Kuh, D., Hughes, A., Von Zglinicki, T. and Hardy, R., 2014. Rate of telomere shortening and cardiovascular damage: a longitudinal study in the 1946 British Birth Cohort. European Heart Journal, 35, 3296–3303.
- Xiong, L., Yang, G., Guo, T., Zeng, Z., Liao, T., Li, Y., Li, Y., Chen, F., Yang, S., Kang, L. and Liang, Z., 2023. 17-year follow-up of association between telomere length and all-cause mortality, cardiovascular mortality in individuals with metabolic syndrome: results from the NHANES database prospective cohort study. Diabetology & Metabolic Syndrome, 15, 247.
