Services
ติดต่อสอบถาม

Regulatory T Cell ( Treg cell )
Regulatory T Cell ( Treg cell ) เป็นกลุ่มของเม็ดเลือดขาวกลุ่มหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของลิมโฟไซต์ชนิด T cells แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ CD4+ Treg cells และ CD8+ Treg cells มีหน้าที่ในการรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย โดยป้องกันไม่ให้ T cells ที่จดจำเซลล์ของร่างกายทำลายเซลล์ของร่างกายตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันของแม่ทำอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ และยังช่วยยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีความไวต่อสิ่งแปลกปลอมมากกว่าปกติซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้หรือหอบหืดอีกด้วย
ทำไมเราต้องตรวจ TREG CELL COUNT
Treg cell ในร่างกายนั้น มีจำนวนที่แตกต่างกัน กล่าวคือ CD4+Treg cells มีจำนวน 5-10% ของจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4+ ทั้งหมด และ CD8+ Treg cells มีจำนวน 0.1-1% ของเม็ดเลือดขาวชนิด CD8+ ทั้งหมด จำนวนของ Treg cells ทั้ง 2 กลุ่มในร่างกายสามารถบอกภาวะความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันและโรคมะเร็งได้ โดยที่
- จำนวน Treg cells ที่ต่ำลง : จะทำให้ Treg cells ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะยับยั้งไม่ให้เม็ดเลือดขาวทำลายเซลล์ภายในร่างกายของตนเองได้ จนเป็นสาเหตุของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง รวมถึงไม่มีความสามารถเพียงพอในการยับยั้งการทำงานของเซลล์ชนิดอื่นในระบบภูมิคุ้มกัน จึงส่งผลให้เกิดอาการแพ้ หรือก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้
- จำนวน Treg cells ที่สูงขึ้น : สามารถบ่งชี้ถึงโอกาสการเป็นโรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อไวรัส เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) , ไวรัสตับอักเสบซี (HCV), HIV และ Herpes Simplex Virus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริม เนื่องจาก Treg cells ช่วยทำให้เซลล์มะเร็งหรือเชื้อไวรัสสามารถหลบเลี่ยงเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ ส่งผลให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ติดเชื้อดังกล่าวได้

รูปข้างต้น แสดงถึง กลไกการทำงานร่วมกันของเซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อมีการตรวจพบเซลล์มะเร็ง โดยเซลล์ที่มีหน้าที่ในการนำเสนอชิ้นส่วนของสิ่งแปลกปลอม เช่น Dendritic cells หรือ Macrophage นำเสนอชิ้นส่วนของเซลล์มะเร็งให้กับ Treg cells จากนั้น Treg cells จะไปยับยั้งการทำงานของ T cells ส่งผลให้ T cells ไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจวัดจำนวน Regulatory T Cell ( Treg cell ) ในร่างกาย
- บุคคลในครอบครัว หรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น SLE
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาโรค ที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาโรคภูมิแพ้
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง
- ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ซึ่งสะท้อนถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคตับ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่พักผ่อนน้อย เครียด ขาดการออกกำลังกาย มีปัญหาเรื่องสุขภาพ
- มีภาวะทุพโภชนาการ จากการรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน เช่น ขาดการบริโภคผัก หรือผลไม้อย่างเพียงพอ
วิธีเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน กรณีที่มีจำนวน Treg cells อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน
- พบแพทย์เพื่อหาข้อมูลปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองและโรคมะเร็ง
- การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ปรับการบริโภคอาหาร เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือการรับประทานวิตามินเสริมโดยเฉพาะวิตามินเอ
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้าเพื่อให้ร่างกายมีโอกาสได้รับวิตามินดีมากขึ้น
- ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน